วางแผนเกษียณ คือหนึ่งในแผนชีวิตที่ทุกคนต้องมี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เตรียมแผนนี้เอาไว้ หรือบางคนอาจจะใช้ชีวิตจนลืมนึกถึงวัยเกษียณไปเลยด้วยซ้ำ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่วางแผนเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณบ้างแล้ว นั่นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ยังมีปัจจัยบางอย่างที่คุณต้องศึกษาเพิ่มเติมเอาไว้ด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนต่าง ๆ ในอนาคต เป็นต้น ดังนั้นการกำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณจำเป็นต้องมีวิธีคำนวณที่ถูกต้อง เพื่อให้มีเงินใช้เมื่อถึงวัยเกษียณได้อย่างสบาย ๆ 

ปัจจัยควรรู้สำหรับการวางแผนเกษียณ ก่อนเข้าสู่การคำนวณจำนวนเงิน

การวางแผนเกษียณไม่ใช่แค่การเก็บเงินให้ได้จำนวนมากเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงเผื่อไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางการเงินและเศรษฐกิจในอนาคต โดยปัจจัยที่ควรคำนึงถึงได้แก่

วางแผนเกษียณ
  1. อัตราเงินเฟ้อที่เป็นไปได้เมื่อถึงวันที่เกษียณ

ยิ่งเวลาผ่านไป เงินสดที่เราถือไว้กับตัวจะยิ่งมีมูลค่าลดลง การออมเพื่อวางแผนเกษียณจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอ ต้องเผื่ออัตราเงินเฟ้อเข้าไปในสูตรการเก็บเงินด้วย โดยเฉลี่ยแล้วอัตราเงินเฟ้อมักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ไม่ว่าเราจะต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละเท่าไร อย่าลืมนำ 3% นี้เพิ่มเข้าไปในสมการด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการออมเงินอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินให้เพียงพอกับเป้าหมายในการเกษียณด้วย

  1. หนี้สินต่าง ๆ ที่ควรปลดล็อกก่อนเกษียณ

ในวัยทำงานอาจมีหนี้สินทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นเกิดขึ้น หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรก่อหนี้เสียหรือหนี้บริโภคมากเกินไป ส่วนหนี้สินบางประเภท ที่เป็นหนี้สินเพื่อการลงทุนต่อยอดธุรกิจต่าง ๆ ควรวางแผนเรื่องการจัดการหนี้สินให้ดี เพื่อให้ปลอดภาระหนี้ก่อนถึงวันเกษียณ และหากคำนวณแล้วรู้สึกว่า หลังเกษียณยังต้องมีเงินสำหรับการใช้หนี้อยู่ ก็ต้องเพิ่มรายจ่ายในส่วนของหนี้สินเข้าไปด้วย

  1. เงินเย็นสำหรับเหตุฉุกเฉิน การลงทุน หรือหารายได้เสริม

เงินเย็น คือเงินออมประเภทที่ทุกคนควรมี อาจเป็นเงินที่เก็บไว้เฉย ๆ เผื่อใช้ยามฉุกเฉิน หรือเป็นเงินที่ถ้าหากลงทุนไปแล้วไม่ได้กำไรตอบแทนก็จะไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ก่อนการวางแผนเกษียณจึงต้องมีเงินเย็นออมเผื่อไว้ก่อนสักก้อนหนึ่ง โดยปรับอัตราเงินออมก้อนนี้ไว้ตามความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคน แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเงินเดือนหรือรายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงชีวิต เพราะนอกจากจะใช้ในยามฉุกเฉินได้ เช่น เกิดเป็นโรคภัยร้ายแรง ประสบอุบัติเหตุ เกิดความเสียหายกับทรัพย์สิน ก็ยังสามารถใช้ลงทุนต่อยอดในวัยเกษียณได้อีกด้วย ทั้งนี้การทำประกันสุขภาพหรือประกันภัยต่าง ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฝากเงิน เพื่อรักษาเงินเย็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้เช่นเดียวกัน

สูตรการคำนวณเงินเพื่อวางแผนเกษียณ รู้ไว้มีใช้สบายไม่เป็นภาระลูกหลาน

สำหรับจำนวนเงินที่จำเป็นเพื่อการวางแผนเกษียณ ขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านรายได้ในวัยทำงาน และไลฟ์สไตล์หลังเกษียณของแต่ละคน โดยมีสูตรง่าย ๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ x 12 เดือน x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ยแล้วมักเป็น 20 ปี เพราะอายุเฉลี่ยของคนไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 80 ปีนั่นเอง 

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท ก็นำจำนวน 50,000 (อย่าลืมคำนึงเรื่องเงินเฟ้อด้วยนะ) x 12 (เดือน) x  20 (ปี) = 12,000,000 บาท นั่นเอง ทั้งนี้ สูตรนี้เป็นกรณีสำหรับการเก็บเงินโดยการออมหรือลงทุนให้ได้ตามจำนวนนี้ แล้วเริ่มใช้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเงินจะหมด หรือคุณจะเสียชีวิตก่อน 

และยังมีอีกสูตรหนึ่ง สำหรับคนที่ยังคงต้องการลงทุนต่อ เพื่อรับผลตอบแทนต่อไปทุก ๆ ปี ซึ่งสูตรการวางแผนเกษียณตรงนี้จะเปลี่ยนไปเล็กน้อย ก็คือ ให้นำค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ x 12 เดือน แล้วหารด้วยอัตราผลตอบแทนของเงินออมหรือเงินทุนต่อปี เช่น 50,000 (บาท) x 12 (เดือน) / 6% (ผลตอบแทนจากการลงทุน) = 10,000,000 บาท
จะเห็นได้ว่าเงินเริ่มต้นจะน้อยลงกว่าวิธีแรก และยังคงสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกจากเงินต้น ทำให้คุณสามารถนำผลกำไรมาเฉลี่ยใช้ โดยที่เงินต้นไม่ได้หายไปด้วยนั่นเอง

เมื่อรู้สูตรการวางแผนเกษียณแล้ว อย่าลืมศึกษาหาความรู้เรื่องเศรษฐกิจและการเงินเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ทันข่าวสาร และมีแผนสำรองในกรณีที่แผนที่วางไว้ทำไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จำนวนเงินที่ตั้งใจเก็บตามแผนในตอนแรก อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากยิ่งเริ่มวางแผนไว ก็ยิ่งมีภาพอนาคตในวัยเกษียณรวย เกษียณสุขเร็วขึ้น